วิเคราะห์เรื่องไตรภูมิพระร่วง
ไตรภูมิพระร่วง... .อุตตรกุรุทวีป
อุตตรกุรุทวีป คือแดนหรือสังคมในอุดมคติ ซึ่งมนุษย์ทุกรูปทุกนามต่างปรารถนาจะได้ไปเกิด เพราะในแดนนี้มนุษย์ทุกคนจะมีความเสมอภาคหรือเท่าเทียมกันทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตาหรือความเป็นอยู่ ชีวิตจึงเปี่ยมไปด้วยความสุขสบายเป็นที่สุด
ตอน“ประเภทมนุษย์ – สี่แผ่นดิน”
ซึ่งเน้นที่ “อุตตรกุรุทวีป” ซึ่งอยู่ทางใต้ของชมพูทวีปอันเป็นหนึ่งใน ๔ ทวีปใน “มนุสสภูมิ” แนวคิดเกี่ยวกับสังคมในอุดมคตินี้มิได้มีเฉพาะในวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วงเท่านั้น
ในวรรณคดีชาติอื่น ๆ ก็มีแนวคิดทำนองเดียวกันเช่นเรื่อง “ยูโทเปีย” (Utopia) ของทอมัส มอร์ (Thqmas More) ซึ่งแต่งขึ้นใน ค.ศ ๑๕๑๕ เรื่อง “เต๋า เต๊ก เก็ง” หรือ “เต๋า เต้อ ชิง” (Tao-Te-Ching) ที่เล่าจื้อหรือเล่าเสอ (Laotse) ได้รวบรวมขึ้นไว้ประมาณ ๒,๔๐๐ กว่าปีมาแล้วเป็นต้น สิทธา พินิจภุวดลนักวรรณคดีเปรียบเทียบได้ศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับแนวคิดในวรรณคดีทั้งสามเรื่องนี้ไว้ในงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเกี่ยวกับสังคมอุดมคติในวรรณคดีเรื่อง ไตรภุมิพระร่วง-ยูโทเปีย และ เต๋า เต็ก เก็ง” สรุปความสำคัญได้ว่า วรรณคดีทั้งสามเรื่องนี้มีแนวคิดร่วมกันในการแสวงหาลักษณะต่างๆ ของสังคมในอุดมคติ ทั้งๆที่ผู้แต่งทั้งสามมีความแตกต่างกันในด้านยุคสมัย เชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม เมื่อกล่าวเฉพาะอุตตรกุรุทวีป จะเห็นว่ามวลมนุษย์ที่อยู่ในแดนนี้จะต้องประกอบแต่กรรมดีมาแต่ชาติปางก่อนทั้งสิ้น นี้คือประจักษ์พยานเรื่องกฎแห่งกรรมหรืออำนาจแห่งผลกรรมที่เห็นชัดว่า การทำดีย่อมได้ผลดีเป็นเครื่องตอบแทน
ในจำนวนทวีปทั้ง ๔ จะเห็นว่ามีเพียง “ชมพูทวีป” เท่านั้นที่มนุษย์มีอายุไม่แน่นอน ขึ้นๆ ลงๆ ตามแต่กรรมที่กระทำ คือเมื่อใดที่คนทั้งหลายมิได้จำศีลแลมิได้ทำบุญ อายุก็จะลดน้อยลงแต่ถ้าคนทั้งหลายนั้นมีศีลอยู่ไสร้ อายุก็จะมากขึ้น ส่วนอีก ๓ ทวีปที่เหลือมนุษย์จะมีอายุยืนตามที่กำหนดไว้แน่นอนเพราะพวกเขา อยู่ในปัญจศีลทุกเมื่อบ่มิขาด โดยเฉพาะอุตตรกุรุทวีปมนุษย์จะมีอายุยืนนานที่สุดคือ ๑,๐๐๐ ปี
เมื่ออ่านตอนอุตตรกุรุทวีปแล้ว บางคนอาจเห็นเป็นเพียงความใฝ่ฝันอันสูงสุดซึ่งยากที่จะเป็นไปได้ในชีวิตมนุษย์ เพราะให้รายละเอียดของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในอุตตรกุรุทวีปที่เป็นเลิศ เช่น มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่อยู่อาศัยสะดวกสบาย แต่ละคนมีร่างกายงดงามและมีสุขภาพกายดีเหมือนกัน ไม่รู้จักการเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่ออายุครบ ๑,๐๐๐ ปีจึงตาย แต่ก็ไม่มีใครร้องไห้เศร้าโศกเพราะทราบดีว่า เขาไสร้เทียรย่อมไปเกิดในที่ดีคือสวรรค์ชั้นฟ้าแล เพราะว่าเขานั้นย่อมตั้งอยุ่ในปัจศีลนั้นทุกเมื่อแลบ่มิได้ขาด ผู้ตายจะไม่มีทางไปเกิดในจตุราบายทั้ง ๔ คือ นรก เปรต ดิรัจฉาน อสุรกาย เป็นอันขาด
ความอุดมสมบูรณ์ของปัจจัยภายนอกทั้งปวงที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตอันแสนสุข ทำให้คนในอุตตรกุรุทวีปไม่มีความร้อนเนื้อเดือดใจ ไม่รู้สึกปรารถนาสิ่งของของผู้ใด มีจิตใจที่สงบงาม เป็นมิตร เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เช่น เมื่อมีผู้มาเยือนขณะที่รับประทานข้าว พวกเขาก็จะ เอาข้าวนั้นให้แก่ผู้ไปถึงเขานั้นกินด้วยใจอันยินดี เมื่อมีหญิงคลอดลูก ผู้เป็นแม่ก็มิต้องเลี้ยงดู เพียงนำทารกไปนอนหงายริมทาง คนที่ผ่านไปมาเห็นเข้า เทียรย่อมเอานิ้วมือเขาป้อนเข้าไปในปากลูกอ่อนนั้นด้วยบุญของลูกอ่อนนั้น ก็บังเกิดเป็นน้ำนมไหลออกมาแต่ปลายนิ้วมือเขาก็ไปในคอลูกอ่อนนั้น ทั้งๆที่พวกเขางามเหมือนกันหมด และลูกก็มิรู้จักแม่ แม่ก็มิรู้จักลูก แต่พวกเขาจะไม่มีความประพฤติผิดทางกามคือ แม่แลลูกก็ดี พ่อแลลูกก็ดี เขาบ่หอนได้กันเป็นผัวเป้นเมีย เพราะว่าเขาฝูงนั้นเป็นคนนักบุญ
แม้ในชีวิตจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มนุษย์ที่เกิดอยู่ในชมพูทวีปจะมีช่วงอายุที่สั้นที่สุดคืออาจไม่ถึง ๑๐๐ ปี แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ทุกคนได้เกิดในทวีปที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐ และโปรดสั่งสอนสัตว์โลก มีจริยธรรมและคุณธรรม เมื่อประกอบกรรมดี ผู้นั้นก็จะได้รับผลดีตอบแทน มีโอกาสที่จะได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีกว่า ซึ่งแม้จะเป็นภพภูมิที่ให้ความสุขในทางโลกียะก็ตาม แต่ที่สำคัญที่สุดคือจะได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม สะสมบุญบารมียิ่งๆ ขึ้น จนกระทั่งสามารถหลุดพ้นจากไตรภุมิ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก นั่นคือได้บรรลุนิพพาน อันเป็นความสุขในทางโลกุตระซึ่งเป็นความสุขอันหาที่เปรียบมิได้ ดังพญาลิไทยได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในตอนต้นของ “นิพพานกถา” ว่า
อันว่านิพพานสมบัตินี้สนุกสุขเขษมนักหนาที่จะปานบ่มิได้เลย สมบัติอินทร์พรหมทั้งหลายก็ดี ถ้าจะเอามาเปรียบเทียบด้วยสมบัตินิพพานนั้น ประดุจเอาหิ่งห้อยมาเปรียบเทียบด้วยพระจันทร์ ถ้ามิดั่งนั้นดุจน้ำอันติดอยู่บนปลายผม แลมาเปรียบด้วยน้ำมหาสมุทรอันลึกได้ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ผิบ่มิดังนั้นดุจเอาดินธุลีนั้นมาเปรีบยด้วยเขา พระสุเมรุ จักรรัตนวรอันประเสริฐแห่งนิพพานนั้นบ่มิถ้วนได้เลย สมบัติในนิพพานนั้นสุขจะพ้นประมาณ...สมบัติยิ่งสมบัติมนุษยโลกแลเทวโลกพรหมโลก
ดังนั้นการที่พญาลิไทยได้ทรงพระราชนิพนธ์ไตรภูมิพระร่วงขึ้นก็เพื่อจะกระตุ้นให้บุคคลได้ตระหนักถึงผลแห่งการทำดีในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมถ้าทุกคนทำดี สังคมก็ย่อมดีด้วยคือเจริญรุ่งเรือง ผู้คนจะอยู่เย็นเป็นสุขทั้งกายและใจ เพราะมีจิตใจสูงและสงบ ไม่เบียดเบียนรุกรานกัน มีแต่ช่วยเหลือซึ่งกันด้วยเหตุนี้จึงมีนักวิชาการหลายคนเห็นพ้องกันว่า การที่พญาลิไทยได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิพระร่วงขึ้นเท่ากับเป็นการสร้างกรอบทางจริธรรมให้แก่คนในสังคม เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ผู้นำปรารถนาจะใช้ให้เห็นเป็นรูปธรรมให้เป็นความจริง มิใช่เป็นเพียงสังคมในฝันหรือสังคมในอุดมคติเท่านั้น
เรื่องไตรภูมิพระร่วงตอนอุตตรกุรุทวีปนั้น ผู้อ่านสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ดีกว่าที่จะละเลย เพราะสังคมในปัจจุบันเป็นสังคมแห่งความสับสนวุ่นวาย เกิดการจลาจลนองเลือดเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ก็เพราะสมาชิกในสังคมมีจิตใจต่ำทราม ประพฤติตนผิดศีลธรรมละเลยคุณธรรมที่พึ่งยึดมั่น ยอมให้อำอาจวัตถุนิยมมามีอิทธิพลเหนือตนจนสร้างความทุกข์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำ ถ้าผู้นำในสังคมปฎิบัติ ตนให้เป็นเยี่ยงอย่าง ปกครองบ้านเมืองโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม สังคมก็จะอยู่รอด แต่ตราบใดที่ผุ้นำเองก็ยังไม่ตระหนักในแนวคิดต่างๆที่กล่าวมานี้ สังคมก็ย่อมจะถึงกาลหายนะในที่สุด เรื่องไตรภูมิพระร่วงจึงมีแนวคิดที่ทันสมัยใหม่อยู่เสมอ อ่านแล้วผู้อ่านจะเกิดพลังใจในการทำความดีเพื่อจักได้ ไปเกิดในอุตตรกุรุทวีป แม้จะเป็นเพียงความสุขทางโลกก็ตาม
นอกจากคุณค่าในด้านเนื้อหาซึ่งมุ่งให้ผู้อ่านตั้งมั่นอยู่ ในศีลธรรมแล้วเรื่องไตรภูมิพระร่วงทุกบททุกตอนยังมีคุณค่าในด้านอื่นๆ อีกนานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวรรณศิลป์ ดังจะเห็นได้จากตอน “ประเภทมนุษย์ – สี่แผ่นดิน” ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถในทางอักษรศาสตร์และวรรณศิลป์เป็นอย่างยิ่ง แม้เรื่องนี้จะมีอายุยาวนานหลายร้อยปีแล้วก็ตาม แต่ก็อ่านเข้าใจได้ไม่ยากนัก เพียงแต่อาจมีคำบางคำ หรือ สำนวนบางสำนวนที่เก่าพ้นสมัย เช่น เข้า-ปี หน้าแว่น-กระจกเงา นะแนง-ยิ่ง อุกกรุก-สกปรกเลอะเทอะ เดือดเนื้อเดือดใจ-เดือดเนื้อร้อนใจ กะจอกงอกเงื่อย-กระจอกงอกง่อย
เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่าในสมัยนั้นนิยมใช้คำซ้อน เช่น ตัดตีนสินมือ สุรายาเมา เรือชานาวา งูเงี้ยวเขี้ยวขอ ร้อนเนื้อเดือดใจ เปื่อยเนื้อเมื่อยตน เป็นต้น
ทั้งนิยมใช้คำหรือวลีซ้ำๆ กัน เช่น ผู้เถ้าผู้แก่ รักพี่รักน้อง รู้ยำรู้เกรง หัวหลักหัวตอ ลางคาบคนทั้งหลายมีศีลธรรมลางคาบคนทั้งหลายหาศีลหาธรรมบ่มิได้ แม่แลลูกก็ดี พ่อแลลูกก็ดี ลูกก็มิรู้จักแม่ แม่ก็มิรู้จักลูก บ่มิได้เป็นขุบเป็นรู บ่มิได้ลุ่มมิได้เทง
เป็นต้น
บางคำบางสำนวนยังคงใช้อยู่แม้ในปัจจุบัน เช่น สุรายาเมา หัวหลักหัวตอ ฯลฯ
มีการใช้คำซ้อน คำซ้ำ หรือวลีซ้ำๆ ดังตัวอย่างข้างต้นนี้เห็นได้ว่ามีส่วนคล้ายกับสำนวนภาษาในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงอยู่บ้าง ซึ่งนอกจากจากจะช่วยให้เกิดเสียง และจังหวะที่ไพเราะรื่นหูแล้ว ยังช่วยเน้นย้ำความให้หนักแน่นชัดเจนยิ่งขึ้น และเมื่อมารวมกันเป็นข้อความก็จะก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ มีความรู้สึกร่วมด้วย มีพลัง โน้มน้าวใจสูง เช่น ตอนกล่าวถึงศีลห้าว่า
... เขาบ่ห่อนจะรู้ฆ่าสัตว์ตัวเป็นให้จำตาย เขาบ่ห่อนจะรู้ลักเอาสินทรัพย์ท่านมากก็ดี อันเจ้าเข้ามิได้ให้ เขาบ่ห่อนจะรู้ฉกลักเอา อนึ่งเขาบ่ห่อนจะรู้ทำชู้ด้วยเมียท่านผู้อื่น ส่วนว่าผู้หญิงเล่าเขาก็บ่ห่อนจะรู้ทำชู้ด้วยผัวท่านแลผู้อื่น แลเขาบ่ห่อนจะรู้ทำชู้จากผัวของตน อันหนึ่งเขาบ่ห่อนจะรู้เจรจามุสาวาท แลเขาบ่ห่อนจะรู้เสพสุรายาเมา แลเขารู้ยำรู้เกรงผู้เถ้าผู้แก่แลพ่อแม่ของเขา เขารู้พี่รักน้องของเขา เขาก็ใจอ่อนใจอด เขารู้เอ็นดูกรุณาแก่กัน เขาบ่ห่อนจะรู้ริษยากัน เขาบ่ห่อนจะรู้เสียดรู้ส่อรู้ทอรู้พ้อรู้ตัดกัน แลเขาบ่ห่อนจะรู้ทะเลาะเบาะแว้งถุ้งเถียงกัน
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้เรื่องไตรภูมิพระร่วงจะแต่งเป็นร้อยแก้ว คือเลือกสรรคำมาเรียงร้อยเข้าด้วยกันโดยมิได้มุ่งสัมผัสเหมือนร้อยกรอง แต่ความที่คนไทยไม่ว่ายุคใดสมัยใดนักจะมีคุณสมบัตินักกลอนเสมอ จึงอดที่จะกล่าวหรือเขียนอะไรที่สัมผัสคล้องจองกันมิได้ ในเรื่องไตรภูมิพระร่วงก็เช่นกันคือ บางตอนมีลักษณะเป็นร้อยแก้วที่สัมผัส โดยเฉพาะสัมผัสในทั้งสัมผัสพยัญชนะและสัมผัสสระอย่างมิได้ตั้งใจ แต่เป็นไปโดยธรรมชาติของนักกลอนไทย เช่น
... คนฝูงกินข้าวนั้นแลจะรู้เป็นหิดแลเรื้อนเกลื้อนแลกลากหูดแลเปา เป็นต่อมเป็นเต้า เป็นง่อยเป็นเพลีย ตาฟูหูหนวก เป็นกะจอกงอกเงื่อย เปื่อยเนื้อเมื่อยตน ท้องขึ้นท้องพอง เจ็บท้องต้องไส้ ปวดหัวมัวตา ไข้เจ็บเหน็บเหนื่อยวิการดังนี้ไสร้ บ่ห่อนจะบังเกิดมีแก่ชาวอุดรกุรุนั้นแต่สักคาบหนึ่งเลย ...
ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งคือการใช้ภาพพจน์หรือโวหารเปรียบเทียบ ซึ่งนอกจากจะไพเราะแล้ว ยังช่วยให้เข้าใจความได้แจ่มแจ้งลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่นตอนกล่าวถึงความงามของหญิงในอุตตรกุรุทวีปว่า
… นิ้วตีนนิ้วมือเขานั้นกลมงามนะแน่ง เล็บตีนเล็บมือเขานั้น แดงงามดังน้ำครั่ง อันท่านแต่งแล้วแลแต้มไว้ แลสองแก้มเขานั้นไสร้งามเป็นนวลดังแกล้งเอาแป้งผัด หน้าเขานั้นหมดเกลี้ยงปราศจากมุทิน (หาฝ้า) หาไฝบ่มิได้ แลเห็นดวงหน้าเขาไสร้ดุจดั่งพระจันทร์วันเพ็งบูรณ์นั้น เขานั้นมีตาเป็นอันดำตาแห่งลูกทรายพึ่งออกได้ ๓ วัน ที่พรรณขาวก็ขาวงามดั่งสังข์อันท่านพึ่งฝนใหม่ แลมีฝีปากนั้นแดงดั่งลูกฟักข้าวอันสุกนั้น แลมีลำแข้งลำขานั้นงามดั่งกล้วยทองฝาแฝดนั้นแล แลมีท้องขานั้นงามราบเพียงลำตัวเขานั้นอ้อนแอ้นเกลี้ยงกลมงาม
จะเห็นว่า การใช้โวหารเปรียบเทียบและเภทอุปมาโวหารทำให้เห็นภาพหญิงในอุตตรกุรุทวีปว่า มีความงามที่สมบูรณ์แบบ ทันสมัย และเป็นสากล ไม่ว่าจะพิจารณาด้านใดก็เป็นความงามที่ยังคงเป็นยอดปรารถนาของหญิงในปัจจุบัน นี้คือวรรณศิลป์ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถของพญาลิไทยในฐานะกวีร้อยแก้ว ทำให้ผู้อ่านเรื่องไตรภูมิพระร่วงซาบซึ้งประทับใจ ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตอนมนุษย์ ๔ แผ่นดิน ซึ่งเน้นที่อุตตรกุรุทวีปเท่านั้น ส่วนตอนอื่นๆ เช่น ตอนนรกภูมิ สวรรค์ภูมิ ฯลฯ นั้นยิ่งประจักษ์พยานอันเด่นชัดว่า เรื่องไตรภูมิพระร่วงอุดมไปด้วยรสแห่งวรรณศิลป์โดยแท้จริง...
อ้างอิง http://www.siam1.net/article-9297.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น