ลักษณะเด่น
หนังสือไตรภูมิพระร่วง ถึงแม้ว่าเป็นวรรณคดีโบราณที่ใช้ภาษาไทยแบบเก่า และมีศัพท์ทางพระพุทธศาสนาปะปนอยู่มาก ทำให้ยากแก่การอ่านสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางพุทธศาสนามาก่อนก็ตาม แต่สำนวนพรรณนาที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้มีความแจ่มแจ้ง ไพเราะ ช่วยให้เกิดจินตภาพหลายตอน และทำให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามไปด้วยเช่น ตอนพรรณนาถึงความน่ากลัวในนรกภูมิ และความสุขสบายในสวรรค์ เป็นต้น ทุก ๆ ตอนที่กล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ได้ทรงอธิบายตอนนั้นอย่างละเอียด กระบวนพรรณนาที่แจ่มแจ้งแลเห็นจริงจังอันควรยกมาเป็นตัวอย่าง เช่น ตอนพรรณนาลักษณะของเปรต ได้กล่าวเอาไว้ชัดเจน ดังนี้
" เปรตลางจำพวก ตัวเขาใหญ่ ปากเขาน้อยเท่ารูเข็มนั้นก็มี เปรตลางจำพวกผอมหนักหนา เพื่ออาหารจะกินบมิได้ แม้ว่าจะขอดเอาเนื้อน้อย ๑ ก็ดี เลือดหยด ๑ ก็ดี บมิได้เลย เท่าว่ามีแต่กระดูกและหนังพอกกระดูกภายนอกอยู่ไส้ หนังท้องนั้นเหี่ยวติดกระดูกสันหลังแล ตานั้นลึกและกลวงดังแสร้งควักเสีย ผมเขานั้นยุ่งรุ่ยร่ายลงมาปกปากเขา มาตรว่าผ้าร้ายน้อยหนึ่งก็ดี และจะมีปกกายเขานั้นก็หามิได้เลย เทียรย่อมเปลือยอยู่ ชั่วตนเขานั้นเหม็นสาบพึงเกลียดนักหนาแลเขานั้นเทียรย่อมเดือดเนื้อร้อนใจเขาแล เขาร้องไห้ร้องครางอยู่ทุกเมื่อแล เพราะว่าเขาอยากอาหารนักหนาแล "
คุณค่าของหนังสือ
๑. ด้านภาษาและสำนวนโวหาร
เป็นวรรณคดีเล่มแรกที่เรียบเรียงในลักษณะการค้นคว้าจากคัมภีร์ต่าง ๆ ถึง ๓๐คัมภีร์ จึงมีศัพท์ทางศาสนาและภาษาไทยโบราณอยู่มาก สามารถนำมาศึกษาการใช้ภาษาในสมัยกรุงสุโขทัย ตลอดจนสำนวนโวหารต่าง ๆ ไตรภูมิพระร่วงมีสำนวนหนักไปในทางศาสนาโวหารและพรรณนาโวหาร ผูกประโยคยาว และใช้ถ้อยคำพรรณนาดีเด่น สละสลวยไพเราะ ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านอารมณ์สะเทือนใจและให้จินตภาพหรือภาพในใจอย่างเด่นชัด เช่น " บ้างเต้นบ้างรำบ้างฟ้อน ระบำบันลือเพลงดุริยดนตรี บ้างดีดบ้างสีบ้างตีบ้างเป่า บ้างขับศัพท์สำเนียง หมู่นักคุณจุณกันไปเดียรดาษพื้น ฆ้องกลองแตรสังข์ระฆังกังสดาลมโหระทึกกึกก้องทำนุกดี ที่มีดอกไม้อันตระการ่ต่าง ๆ สิ่ง มีจวงจันทน์กฤษณาคันธาทำนอง ลบองดังเทพยดาในเมืองฟ้า สนุกนี้ทุกเมื่อบำเรอกันบมิวาย "
๒. ด้านความรู้
๒.๑ ด้านวรรณคดี ทำให้คนชั้นหลังได้รับความรู้ทางวรรณคดี อันเป็นความคิดของคนโบราณ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของวรรณคดีไทย เช่น พระอินทร์ แท่นบัณพุกัมพล ช้างเอราวัณ เขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์ต้นปาริชาติ ต้นนารีผล นรก สวรรค์ เป็นต้น
๒.๒ ด้านภูมิศาสตร์ เป็นความรู้ทางภูมิศาสตร์ของคนโบราณ
โดยเชื่อว่าโลกมีอยู่ ๔ ทวีป ได้แก่ ชมพูทวีป บุรพวิเทหทวีป อุตตรกุรุทวีป และอมรโคยานทวีป โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง
๓. ด้านสังคมและวัฒนธรรม
๓.๑ คำสอนทางศาสนา ไตรภูมิพระร่วงสอนให้คนทำบุญละบาป เช่น การทำบุญรักษาศีลเจรฐสมาธิภาวนาจะได้ขึ้นสวรรค์การทำบาปจะตกนรก แนวความคิดนี้มีอิทะพลเหนือนจิตใจของคนไทยมาช้านาน เป็นเสมือนแนวการสอนศีลธรรมของสังคม ให้คนปฏิบัติชอบซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม
๓.๒ ค่านิยมเชิงสังคม อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ให้ค่านิยมเชิงสังคมต่อคนไทย ให้ตั้งมั่นและยึดมั่นในการเป็นคนใจบุญ มีเมตตากรุณา รักษศีล บำเพ็ญทาน รู้จักเสียสละ เชื่อมั่นในผล แห่งกรรม
๓.๓ ศิลปกรรม จิตรกรนิยมนำเรื่องราวและความคิดในไตรภูมิพระร่วงไปเขียนภาพสีไว้ในโบสถ์วิหาร โดยจะเขียนภาพนรกกไว้ที่ผนังด้านล่างหรือหลังองค์พระประธาน และเขียนภาพสวรรค์ไว้ที่ผนังเบื้องบนรอบโบสถ์วิหาร
๔. ด้านอิทธิพลต่อวรรณคดีอื่น
มีหนังสืออ้างอิงทำนองไตรภูมิพระร่วง ที่มีผู้แต่งเลียนแบบอีกหลายเล่ม เช่น จักรวาลทีปนี ของ พระสิริมังคลาจารย์แห่งเชียงใหม่ไตรภูมิโลกวินิจฉัย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเล่าเรื่องไตรภูมิ เป็นต้น
ไตรภูมิพระร่วงมีอิทธิพลสำคัญต่อแนวคิดของกวีรุ่นหลัง โดยนำความคิดในไตรภูมิพระร่วงสอดแทรกในวรรณคดีต่าง ๆ เช่น ลิลิตโองการแช่งน้ำ มหาเวสสันดรชาดก รามเกียรติ์ กากีคำกลอนขุนช้างขุนแผน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ลิลิตโองการแช่งน้ำ กล่าวถึงไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก
" นานาอเนกน้าวเดิมกัลป์ จักร่ำจักรพาฬหเมื่อไหม้
กล่าวถึงตะวันเจ็ดอันพลุ่ง น้ำแล้งไข้ขอดหาย "
รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ กล่าวถึงทวีปทั้ง ๔ ว่า
" สำแดงแผลงฤทธิ์ฮีกฮัก ขุนยักษ์ไล่ม้วนแผ่นดิน
ชมพูอุดรกาโร อมรโคยานีก็ได้สิ้น "
รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ กล่าวถึงปลาอานนท์
" เขาสุเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน อานนท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน "
กากีคำกลอน กล่าวถึงแม่น้ำสีทันดร
" ....................................... ในสาครลึกกว้างกลางวิถี
แม้จะขว้างหางแววมยุรี ก็จมลงถึงที่แผ่นดินดาน
อันน้ำนั้นสุขุมละเอียดอ่อน จึงชื่อสีทันดรอันใสสาร
ประกอบด้วยมัจฉากุมภาพาล คชสารเงือกน้ำและนาคิน "
ขุนช้างขุนแผน กล่าวถึงป่าหิมพานต์
" ม่านนี้ฝีมือวันทองทำ จำได้ไม่ผิดนัยน์ตาพี่
เส้นไหมแม้นเขียนแนบเนียนดี สิ้นฝีมือแล้วแต่นางเดียว
เจ้าปักเป็นป่าพนาเวศ ขอบเขตเขาคลุ้มชอุ่มเขียว
รุกขชาติดาดใบระบัดเรียว พริ้งเพรียวดอกดกระดะดวง
ปักเป็นมยุราลงรำร่อน ฟ่ายฟ้อนอยู่บนยอดภูเขาหลวง
แผ่หางกางปีกเป็นพุ่มพวง ชะนีหน่วงเหนี่ยวไม้ชะม้อยตา
ปักเป็นหิมพานต์ตระหง่านงาม อร่ามรูปพระสุเมรุภูผา
วินันตกอัสกรรณเป็นหลั่นมา การวิกอิสินธรยุคุนธร "
ตัวอย่างจากเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง
โลหสิมพลีนรก
" นรกบ่าวถัดนั้นอันคำรบ ๑๕ ชื่อ โลหสิมพลีนรก ฝูงชนอันทำชู้ด้วยเมียท่านก็ดี แลผู้หญิงอันมีผัวแล้วแลทำชู้จากผัวก็ดี คนฝูงนั้นตายไปแล้วไปเกิดในนรกนั้น ๆ มีป่าไม้งิ้วป่า ๑ หลายต้นนักแล ต้นงิ้วนั้นสูงได้แลโยชน์ แลหนามงิ้วนั้นเทียรย่อมเหล็กแดงเป็นเปลวสุกอยู่
แลหนามงิ้วนั้นยาวได้ ๑๒ นิ้วมือ เป็นเปลวไฟลุกอยู่ห่อนจะรู้ดับสักคาบแล ในนรกนั้นเทียรย่อมฝูงหญิงฝูงชายหลายแล คนฝูงนั้นเขาได้รักใคร่กันดังกล่าวมาดุจก่อนนั้นแล ลางคาบผู้หญิงอยู่บนปลายงิ้ว ผู้ชายอยู่ภาคต่ำ ฝูงยมบาลเขาก็เอาหอกดาบหลาวแหลน อันคมเทียรย่อมเหล็กแดง แทงตีนผู้ชายนั้น จำให้ขึ้นไปหาผู้หญิงชูของสู อันอยู่บนปลายงิ้วโพ้นเร็วอย่าอยู่ แลฝูงผู้ชายทนเจ็บบมิได้จึงปีนขึ้นไปบนต้นงิ้วนั้นครั้นว่าขึ้นไปไส้ หนามงิ้วบาดทั่วตนเขาขาดทุกแห่ง แล้วเป็นเปลวไหม้ตนเขา ๆ อดบมิได้จึงบ่ายหัวลงมา ฝูงยมบาลก็เอาหอกแทงซ้ำเล่าร้องว่าสูเร่งขึ้นไปหาชู้สูที่อยู่บนปลายงิ้วโพ้น สูจะลงมาเยียใดเล่า เขาอดเจ็บบมิได้ เขาเถียงยมบาลว่า ตูมิขึ้นไป เขาก็มิขึ้นไป แลหนามงิ้วบาดทั่วทั้งตัวเขา ๆ เจ็บปวดนักหนาดังใจเขาจะขาดตาม แลเขากลัวฝูงยมบาล เขาจึงขึ้นไปเถิงปลายงิ้วนั้น ครั้นจะใกล้เถิงผู้หญิงผู้เป็นชู้สูอันอยู่บนปลายงิ้วนั้นเล่า แลว่าเมื่อเขาขึ้นลงหากันดังนั้นหลายคาบหลายคราลบากนักหนาแล "
จาตุมหาราชิกาสวรรค์
" แต่แผ่นดินเราอยู่นี้ขึ้นไปเบื้องบนได้ ๓๒๖,๐๐๐,๐๐๐ วาผิจะนับด้วยโยชน์ได้ ๔,๖๐๐ โยชน์ไส้ ว่าจิงได้เถิงชั้นฟ้าอันชื่อ จาตุมหาราชิกา ภูมิอันตั้งอยู่เหนือจอมเขายุคนธรฝ่ายตะวันตกตะวันออกก็ดี ฝ่ายหนทักษิณเขาพระสิเนรุราช มีเมืองใหญ่เทพยดาอยู่ ๔ เมือง โดยกว้างโดยยาวเมืองนั้นใหญ่ได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา รอบนั้นเทียรย่อมกำแพงทอง ประดับด้วยแก้ว ๗ประการ แลกำแพงอันรอบนั้นโดยสูงได้ ๘,๐๐๐ วา บานประตูนั้นเทียรย่อมแก้ว แลมีปราสาททองอยู่เหนือประตูนั้นทุกอัน ในเมืองนั้นเทียรย่อมปราสาทแก้ว ฝูงเทพยดาอยู่ใน แผ่นดินนั้นเป็นแผ่นดินทองพรายงามราบนักหนาดังหน้ากลอง แลอ่อนดังฝูกผ้า แลแก้วนั้นเมื่อเหยียบลงอ่อนสน่อยแล้วก็เต็มขึ้นมาเล่า บ่มิเห็นรอยตีนเลย นอกนั้นมีน้ำใสกว่าแก้ว แลมีดอกบัวบาน ๕ สิ่ง ในสระนั้น น้ำนั้นหอมดั่งแสร้งอบ แลมีพรรณดอกไม้อันงาม แลมีต้นไม้อันประเสริฐ งาม มีลูกอันประเสริฐ แลมีโอชารสอันยิ่ง แลไม้ฝูงนี้เป็นดอกเป็นลูกทุกเมื่อ แล่บ่ห่อนจะรู้วายเลยเทพยดาผู้เป็นพระญาแก่เทวดาทั้งหลาย ฝ่ายตะวันออกเขาสุเนรุราชนั้น ชื่อว่าท้าวธตรฐราช เป็นพระญาแก่เทพยดาทั้งหลายรอดทั่วทั้งกำแพงจักรวาฬฝ่ายตะวันออกแล เทพยดาผู้เป็นพระญาแก่เทพยดาแลฝูงครุฑราช แลฝูงนาคเถิงกำแพงจักรวาฬเบื้องตะวันตก แลเทพยดาผู้เป็นพระญาฝ่ายทักษิณชื่อ ท้าววิรุฬหกราช เป็นพระญาแก่ฝูงยักษ์อันชื่อกุมภัณฑ์ แลเทพยดาทั้งหลายรอดไปเถิงกำแพงจักรวาฬฝ่ายทักษิณ แลเทพยดาผู้เป็นพระญาฝ่ายอุดรชื่อ ท้าวไพรศรพณ์มหาราช เป็นพระญาแก่หมู่ยักษ์ทั้งหลาย แลเทพยดาฝ่ายอุดรทิศเขาพระสิเนรุราชรอดไปเถิงกำแพงจักรวาฬฝ่ายอุดรนั้นแล "
อ้างอิง http://piromwasee.exteen.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น