วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560

บทที่6 วีดีโอประกอบเรื่อง



วีดีโอประกอบเรื่อง


https://www.youtube.com/watch?v=kJ7Kz-0998I

กามภูมิ อรุปภูมิ รูปภุมิ



https://www.youtube.com/watch?v=iIhdb3X-tM4

ไตรภูมิพระร่วง... .อุตตรกุรุทวีป

https://www.youtube.com/watch?v=tyG_6PkWh1Q





บบที่5 วิเคราะห์เรื่องไตรภูมิพระร่วง

วิเคราะห์เรื่องไตรภูมิพระร่วง
ไตรภูมิพระร่วง....อุตตรกุรุทวีป

  อุตตรกุรุทวีป คือแดนหรือสังคมในอุดมคติ  ซึ่งมนุษย์ทุกรูปทุกนามต่างปรารถนาจะได้ไปเกิด  เพราะในแดนนี้มนุษย์ทุกคนจะมีความเสมอภาคหรือเท่าเทียมกันทุกประการ  ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตาหรือความเป็นอยู่  ชีวิตจึงเปี่ยมไปด้วยความสุขสบายเป็นที่สุด
           ตอนประเภทมนุษย์ สี่แผ่นดิน
      ซึ่งเน้นที่  อุตตรกุรุทวีป”  ซึ่งอยู่ทางใต้ของชมพูทวีปอันเป็นหนึ่งใน  ๔  ทวีปใน มนุสสภูมิแนวคิดเกี่ยวกับสังคมในอุดมคตินี้มิได้มีเฉพาะในวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วงเท่านั้น 
        ในวรรณคดีชาติอื่น ๆ  ก็มีแนวคิดทำนองเดียวกันเช่นเรื่อง  ยูโทเปีย”  (Utopia)  ของทอมัส  มอร์  (Thqmas  More)  ซึ่งแต่งขึ้นใน ค.ศ ๑๕๑๕  เรื่อง  เต๋า  เต๊ก  เก็งหรือ  เต๋า  เต้อ  ชิง” (Tao-Te-Ching) ที่เล่าจื้อหรือเล่าเสอ (Laotse) ได้รวบรวมขึ้นไว้ประมาณ  ๒,๔๐๐  กว่าปีมาแล้วเป็นต้น  สิทธา  พินิจภุวดลนักวรรณคดีเปรียบเทียบได้ศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับแนวคิดในวรรณคดีทั้งสามเรื่องนี้ไว้ในงานวิจัยเรื่อง  การศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเกี่ยวกับสังคมอุดมคติในวรรณคดีเรื่อง  ไตรภุมิพระร่วง-ยูโทเปีย  และ  เต๋า  เต็ก  เก็ง”  สรุปความสำคัญได้ว่า  วรรณคดีทั้งสามเรื่องนี้มีแนวคิดร่วมกันในการแสวงหาลักษณะต่างๆ ของสังคมในอุดมคติ  ทั้งๆที่ผู้แต่งทั้งสามมีความแตกต่างกันในด้านยุคสมัย  เชื้อชาติ  ภาษา และวัฒนธรรม เมื่อกล่าวเฉพาะอุตตรกุรุทวีป จะเห็นว่ามวลมนุษย์ที่อยู่ในแดนนี้จะต้องประกอบแต่กรรมดีมาแต่ชาติปางก่อนทั้งสิ้น  นี้คือประจักษ์พยานเรื่องกฎแห่งกรรมหรืออำนาจแห่งผลกรรมที่เห็นชัดว่า  การทำดีย่อมได้ผลดีเป็นเครื่องตอบแทน
             ในจำนวนทวีปทั้ง  ๔  จะเห็นว่ามีเพียง  ชมพูทวีป”  เท่านั้นที่มนุษย์มีอายุไม่แน่นอน  ขึ้นๆ ลงๆ ตามแต่กรรมที่กระทำ  คือเมื่อใดที่คนทั้งหลายมิได้จำศีลแลมิได้ทำบุญ  อายุก็จะลดน้อยลงแต่ถ้าคนทั้งหลายนั้นมีศีลอยู่ไสร้  อายุก็จะมากขึ้น  ส่วนอีก  ๓  ทวีปที่เหลือมนุษย์จะมีอายุยืนตามที่กำหนดไว้แน่นอนเพราะพวกเขา  อยู่ในปัญจศีลทุกเมื่อบ่มิขาด  โดยเฉพาะอุตตรกุรุทวีปมนุษย์จะมีอายุยืนนานที่สุดคือ  ๑,๐๐๐  ปี
               เมื่ออ่านตอนอุตตรกุรุทวีปแล้ว  บางคนอาจเห็นเป็นเพียงความใฝ่ฝันอันสูงสุดซึ่งยากที่จะเป็นไปได้ในชีวิตมนุษย์  เพราะให้รายละเอียดของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในอุตตรกุรุทวีปที่เป็นเลิศ  เช่น  มีสิ่งแวดล้อมที่ดี  ที่อยู่อาศัยสะดวกสบาย  แต่ละคนมีร่างกายงดงามและมีสุขภาพกายดีเหมือนกัน  ไม่รู้จักการเจ็บไข้ได้ป่วย  เมื่ออายุครบ  ๑,๐๐๐  ปีจึงตาย  แต่ก็ไม่มีใครร้องไห้เศร้าโศกเพราะทราบดีว่า  เขาไสร้เทียรย่อมไปเกิดในที่ดีคือสวรรค์ชั้นฟ้าแล  เพราะว่าเขานั้นย่อมตั้งอยุ่ในปัจศีลนั้นทุกเมื่อแลบ่มิได้ขาด  ผู้ตายจะไม่มีทางไปเกิดในจตุราบายทั้ง  ๔  คือ  นรก  เปรต  ดิรัจฉาน  อสุรกาย  เป็นอันขาด
            ความอุดมสมบูรณ์ของปัจจัยภายนอกทั้งปวงที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตอันแสนสุข  ทำให้คนในอุตตรกุรุทวีปไม่มีความร้อนเนื้อเดือดใจ  ไม่รู้สึกปรารถนาสิ่งของของผู้ใด  มีจิตใจที่สงบงาม  เป็นมิตร  เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน  เช่น  เมื่อมีผู้มาเยือนขณะที่รับประทานข้าว  พวกเขาก็จะ  เอาข้าวนั้นให้แก่ผู้ไปถึงเขานั้นกินด้วยใจอันยินดี เมื่อมีหญิงคลอดลูก  ผู้เป็นแม่ก็มิต้องเลี้ยงดู  เพียงนำทารกไปนอนหงายริมทาง  คนที่ผ่านไปมาเห็นเข้า  เทียรย่อมเอานิ้วมือเขาป้อนเข้าไปในปากลูกอ่อนนั้นด้วยบุญของลูกอ่อนนั้น  ก็บังเกิดเป็นน้ำนมไหลออกมาแต่ปลายนิ้วมือเขาก็ไปในคอลูกอ่อนนั้น ทั้งๆที่พวกเขางามเหมือนกันหมด  และลูกก็มิรู้จักแม่  แม่ก็มิรู้จักลูก  แต่พวกเขาจะไม่มีความประพฤติผิดทางกามคือ  แม่แลลูกก็ดี  พ่อแลลูกก็ดี  เขาบ่หอนได้กันเป็นผัวเป้นเมีย  เพราะว่าเขาฝูงนั้นเป็นคนนักบุญ             
                 แม้ในชีวิตจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  มนุษย์ที่เกิดอยู่ในชมพูทวีปจะมีช่วงอายุที่สั้นที่สุดคืออาจไม่ถึง  ๑๐๐  ปี  แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า  ทุกคนได้เกิดในทวีปที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐ  และโปรดสั่งสอนสัตว์โลก  มีจริยธรรมและคุณธรรม  เมื่อประกอบกรรมดี  ผู้นั้นก็จะได้รับผลดีตอบแทน  มีโอกาสที่จะได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีกว่า  ซึ่งแม้จะเป็นภพภูมิที่ให้ความสุขในทางโลกียะก็ตาม  แต่ที่สำคัญที่สุดคือจะได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม  สะสมบุญบารมียิ่งๆ ขึ้น  จนกระทั่งสามารถหลุดพ้นจากไตรภุมิ  ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก  นั่นคือได้บรรลุนิพพาน  อันเป็นความสุขในทางโลกุตระซึ่งเป็นความสุขอันหาที่เปรียบมิได้  ดังพญาลิไทยได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในตอนต้นของ  นิพพานกถา”  ว่า
  อันว่านิพพานสมบัตินี้สนุกสุขเขษมนักหนาที่จะปานบ่มิได้เลย  สมบัติอินทร์พรหมทั้งหลายก็ดี  ถ้าจะเอามาเปรียบเทียบด้วยสมบัตินิพพานนั้น  ประดุจเอาหิ่งห้อยมาเปรียบเทียบด้วยพระจันทร์  ถ้ามิดั่งนั้นดุจน้ำอันติดอยู่บนปลายผม  แลมาเปรียบด้วยน้ำมหาสมุทรอันลึกได้  ๘๔,๐๐๐  โยชน์  ผิบ่มิดังนั้นดุจเอาดินธุลีนั้นมาเปรีบยด้วยเขา  พระสุเมรุ  จักรรัตนวรอันประเสริฐแห่งนิพพานนั้นบ่มิถ้วนได้เลย  สมบัติในนิพพานนั้นสุขจะพ้นประมาณ...สมบัติยิ่งสมบัติมนุษยโลกแลเทวโลกพรหมโลก
ดังนั้นการที่พญาลิไทยได้ทรงพระราชนิพนธ์ไตรภูมิพระร่วงขึ้นก็เพื่อจะกระตุ้นให้บุคคลได้ตระหนักถึงผลแห่งการทำดีในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมถ้าทุกคนทำดี  สังคมก็ย่อมดีด้วยคือเจริญรุ่งเรือง  ผู้คนจะอยู่เย็นเป็นสุขทั้งกายและใจ  เพราะมีจิตใจสูงและสงบ  ไม่เบียดเบียนรุกรานกัน  มีแต่ช่วยเหลือซึ่งกันด้วยเหตุนี้จึงมีนักวิชาการหลายคนเห็นพ้องกันว่า  การที่พญาลิไทยได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิพระร่วงขึ้นเท่ากับเป็นการสร้างกรอบทางจริธรรมให้แก่คนในสังคม  เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ผู้นำปรารถนาจะใช้ให้เห็นเป็นรูปธรรมให้เป็นความจริง  มิใช่เป็นเพียงสังคมในฝันหรือสังคมในอุดมคติเท่านั้น
 เรื่องไตรภูมิพระร่วงตอนอุตตรกุรุทวีปนั้น  ผู้อ่านสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง  แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ  แต่ก็ดีกว่าที่จะละเลย  เพราะสังคมในปัจจุบันเป็นสังคมแห่งความสับสนวุ่นวาย  เกิดการจลาจลนองเลือดเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า  ก็เพราะสมาชิกในสังคมมีจิตใจต่ำทราม  ประพฤติตนผิดศีลธรรมละเลยคุณธรรมที่พึ่งยึดมั่น  ยอมให้อำอาจวัตถุนิยมมามีอิทธิพลเหนือตนจนสร้างความทุกข์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำ  ถ้าผู้นำในสังคมปฎิบัติ ตนให้เป็นเยี่ยงอย่าง  ปกครองบ้านเมืองโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม  สังคมก็จะอยู่รอด  แต่ตราบใดที่ผุ้นำเองก็ยังไม่ตระหนักในแนวคิดต่างๆที่กล่าวมานี้  สังคมก็ย่อมจะถึงกาลหายนะในที่สุด  เรื่องไตรภูมิพระร่วงจึงมีแนวคิดที่ทันสมัยใหม่อยู่เสมอ  อ่านแล้วผู้อ่านจะเกิดพลังใจในการทำความดีเพื่อจักได้  ไปเกิดในอุตตรกุรุทวีป  แม้จะเป็นเพียงความสุขทางโลกก็ตาม
               นอกจากคุณค่าในด้านเนื้อหาซึ่งมุ่งให้ผู้อ่านตั้งมั่นอยู่  ในศีลธรรมแล้วเรื่องไตรภูมิพระร่วงทุกบททุกตอนยังมีคุณค่าในด้านอื่นๆ อีกนานัปการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวรรณศิลป์  ดังจะเห็นได้จากตอน  ประเภทมนุษย์ สี่แผ่นดิน”  ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถในทางอักษรศาสตร์และวรรณศิลป์เป็นอย่างยิ่ง  แม้เรื่องนี้จะมีอายุยาวนานหลายร้อยปีแล้วก็ตาม  แต่ก็อ่านเข้าใจได้ไม่ยากนัก  เพียงแต่อาจมีคำบางคำ  หรือ สำนวนบางสำนวนที่เก่าพ้นสมัย  เช่น  เข้า-ปี    หน้าแว่น-กระจกเงา       นะแนง-ยิ่ง  อุกกรุก-สกปรกเลอะเทอะ  เดือดเนื้อเดือดใจ-เดือดเนื้อร้อนใจ  กะจอกงอกเงื่อย-กระจอกงอกง่อย 
เป็นต้น        
           เป็นที่น่าสังเกตว่าในสมัยนั้นนิยมใช้คำซ้อน  เช่น  ตัดตีนสินมือ  สุรายาเมา  เรือชานาวา  งูเงี้ยวเขี้ยวขอ  ร้อนเนื้อเดือดใจ  เปื่อยเนื้อเมื่อยตน  เป็นต้น 
           ทั้งนิยมใช้คำหรือวลีซ้ำๆ  กัน เช่น  ผู้เถ้าผู้แก่  รักพี่รักน้อง  รู้ยำรู้เกรง  หัวหลักหัวตอ  ลางคาบคนทั้งหลายมีศีลธรรมลางคาบคนทั้งหลายหาศีลหาธรรมบ่มิได้  แม่แลลูกก็ดี  พ่อแลลูกก็ดี  ลูกก็มิรู้จักแม่  แม่ก็มิรู้จักลูก  บ่มิได้เป็นขุบเป็นรู  บ่มิได้ลุ่มมิได้เทง 
เป็นต้น         
             บางคำบางสำนวนยังคงใช้อยู่แม้ในปัจจุบัน  เช่น  สุรายาเมา  หัวหลักหัวตอ  ฯลฯ
                    มีการใช้คำซ้อน  คำซ้ำ  หรือวลีซ้ำๆ  ดังตัวอย่างข้างต้นนี้เห็นได้ว่ามีส่วนคล้ายกับสำนวนภาษาในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงอยู่บ้าง  ซึ่งนอกจากจากจะช่วยให้เกิดเสียง  และจังหวะที่ไพเราะรื่นหูแล้ว  ยังช่วยเน้นย้ำความให้หนักแน่นชัดเจนยิ่งขึ้น  และเมื่อมารวมกันเป็นข้อความก็จะก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ  มีความรู้สึกร่วมด้วย  มีพลัง  โน้มน้าวใจสูง  เช่น  ตอนกล่าวถึงศีลห้าว่า

  ...  เขาบ่ห่อนจะรู้ฆ่าสัตว์ตัวเป็นให้จำตาย  เขาบ่ห่อนจะรู้ลักเอาสินทรัพย์ท่านมากก็ดี  อันเจ้าเข้ามิได้ให้  เขาบ่ห่อนจะรู้ฉกลักเอา  อนึ่งเขาบ่ห่อนจะรู้ทำชู้ด้วยเมียท่านผู้อื่น  ส่วนว่าผู้หญิงเล่าเขาก็บ่ห่อนจะรู้ทำชู้ด้วยผัวท่านแลผู้อื่น  แลเขาบ่ห่อนจะรู้ทำชู้จากผัวของตน  อันหนึ่งเขาบ่ห่อนจะรู้เจรจามุสาวาท  แลเขาบ่ห่อนจะรู้เสพสุรายาเมา  แลเขารู้ยำรู้เกรงผู้เถ้าผู้แก่แลพ่อแม่ของเขา  เขารู้พี่รักน้องของเขา  เขาก็ใจอ่อนใจอด  เขารู้เอ็นดูกรุณาแก่กัน  เขาบ่ห่อนจะรู้ริษยากัน  เขาบ่ห่อนจะรู้เสียดรู้ส่อรู้ทอรู้พ้อรู้ตัดกัน  แลเขาบ่ห่อนจะรู้ทะเลาะเบาะแว้งถุ้งเถียงกัน
                อนึ่ง  เป็นที่น่าสังเกตว่า  แม้เรื่องไตรภูมิพระร่วงจะแต่งเป็นร้อยแก้ว  คือเลือกสรรคำมาเรียงร้อยเข้าด้วยกันโดยมิได้มุ่งสัมผัสเหมือนร้อยกรอง  แต่ความที่คนไทยไม่ว่ายุคใดสมัยใดนักจะมีคุณสมบัตินักกลอนเสมอ  จึงอดที่จะกล่าวหรือเขียนอะไรที่สัมผัสคล้องจองกันมิได้  ในเรื่องไตรภูมิพระร่วงก็เช่นกันคือ  บางตอนมีลักษณะเป็นร้อยแก้วที่สัมผัส  โดยเฉพาะสัมผัสในทั้งสัมผัสพยัญชนะและสัมผัสสระอย่างมิได้ตั้งใจ  แต่เป็นไปโดยธรรมชาติของนักกลอนไทย  เช่น
 ...  คนฝูงกินข้าวนั้นแลจะรู้เป็นหิดแลเรื้อนเกลื้อนแลกลากหูดแลเปา  เป็นต่อมเป็นเต้า  เป็นง่อยเป็นเพลีย  ตาฟูหูหนวก  เป็นกะจอกงอกเงื่อย  เปื่อยเนื้อเมื่อยตน  ท้องขึ้นท้องพอง  เจ็บท้องต้องไส้  ปวดหัวมัวตา  ไข้เจ็บเหน็บเหนื่อยวิการดังนี้ไสร้  บ่ห่อนจะบังเกิดมีแก่ชาวอุดรกุรุนั้นแต่สักคาบหนึ่งเลย ...
                ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งคือการใช้ภาพพจน์หรือโวหารเปรียบเทียบ ซึ่งนอกจากจะไพเราะแล้ว  ยังช่วยให้เข้าใจความได้แจ่มแจ้งลึกซึ้งยิ่งขึ้น  เช่นตอนกล่าวถึงความงามของหญิงในอุตตรกุรุทวีปว่า
 …  นิ้วตีนนิ้วมือเขานั้นกลมงามนะแน่ง  เล็บตีนเล็บมือเขานั้น  แดงงามดังน้ำครั่ง  อันท่านแต่งแล้วแลแต้มไว้  แลสองแก้มเขานั้นไสร้งามเป็นนวลดังแกล้งเอาแป้งผัด  หน้าเขานั้นหมดเกลี้ยงปราศจากมุทิน (หาฝ้า)  หาไฝบ่มิได้  แลเห็นดวงหน้าเขาไสร้ดุจดั่งพระจันทร์วันเพ็งบูรณ์นั้น  เขานั้นมีตาเป็นอันดำตาแห่งลูกทรายพึ่งออกได้  ๓  วัน  ที่พรรณขาวก็ขาวงามดั่งสังข์อันท่านพึ่งฝนใหม่  แลมีฝีปากนั้นแดงดั่งลูกฟักข้าวอันสุกนั้น  แลมีลำแข้งลำขานั้นงามดั่งกล้วยทองฝาแฝดนั้นแล  แลมีท้องขานั้นงามราบเพียงลำตัวเขานั้นอ้อนแอ้นเกลี้ยงกลมงาม
        จะเห็นว่า  การใช้โวหารเปรียบเทียบและเภทอุปมาโวหารทำให้เห็นภาพหญิงในอุตตรกุรุทวีปว่า มีความงามที่สมบูรณ์แบบ  ทันสมัย  และเป็นสากล  ไม่ว่าจะพิจารณาด้านใดก็เป็นความงามที่ยังคงเป็นยอดปรารถนาของหญิงในปัจจุบัน  นี้คือวรรณศิลป์ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถของพญาลิไทยในฐานะกวีร้อยแก้ว  ทำให้ผู้อ่านเรื่องไตรภูมิพระร่วงซาบซึ้งประทับใจ  ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตอนมนุษย์  ๔  แผ่นดิน ซึ่งเน้นที่อุตตรกุรุทวีปเท่านั้น  ส่วนตอนอื่นๆ  เช่น  ตอนนรกภูมิ  สวรรค์ภูมิ  ฯลฯ  นั้นยิ่งประจักษ์พยานอันเด่นชัดว่า  เรื่องไตรภูมิพระร่วงอุดมไปด้วยรสแห่งวรรณศิลป์โดยแท้จริง...


อ้างอิง http://www.siam1.net/article-9297.html

บทที่4 ลักษณะเด่นไตรภูมิพระร่วง

ลักษณะเด่น
       หนังสือไตรภูมิพระร่วง ถึงแม้ว่าเป็นวรรณคดีโบราณที่ใช้ภาษาไทยแบบเก่า และมีศัพท์ทางพระพุทธศาสนาปะปนอยู่มาก  ทำให้ยากแก่การอ่านสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางพุทธศาสนามาก่อนก็ตาม  แต่สำนวนพรรณนาที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้มีความแจ่มแจ้ง ไพเราะ ช่วยให้เกิดจินตภาพหลายตอน  และทำให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามไปด้วยเช่น  ตอนพรรณนาถึงความน่ากลัวในนรกภูมิ  และความสุขสบายในสวรรค์ เป็นต้น  ทุก ๆ ตอนที่กล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ได้ทรงอธิบายตอนนั้นอย่างละเอียด  กระบวนพรรณนาที่แจ่มแจ้งแลเห็นจริงจังอันควรยกมาเป็นตัวอย่าง  เช่น  ตอนพรรณนาลักษณะของเปรต  ได้กล่าวเอาไว้ชัดเจน ดังนี้
        " เปรตลางจำพวก ตัวเขาใหญ่ ปากเขาน้อยเท่ารูเข็มนั้นก็มี  เปรตลางจำพวกผอมหนักหนา  เพื่ออาหารจะกินบมิได้  แม้ว่าจะขอดเอาเนื้อน้อย ๑ ก็ดี  เลือดหยด ๑ ก็ดี  บมิได้เลย  เท่าว่ามีแต่กระดูกและหนังพอกกระดูกภายนอกอยู่ไส้  หนังท้องนั้นเหี่ยวติดกระดูกสันหลังแล ตานั้นลึกและกลวงดังแสร้งควักเสีย  ผมเขานั้นยุ่งรุ่ยร่ายลงมาปกปากเขา  มาตรว่าผ้าร้ายน้อยหนึ่งก็ดี และจะมีปกกายเขานั้นก็หามิได้เลย  เทียรย่อมเปลือยอยู่  ชั่วตนเขานั้นเหม็นสาบพึงเกลียดนักหนาแลเขานั้นเทียรย่อมเดือดเนื้อร้อนใจเขาแล  เขาร้องไห้ร้องครางอยู่ทุกเมื่อแล  เพราะว่าเขาอยากอาหารนักหนาแล "
คุณค่าของหนังสือ
๑.  ด้านภาษาและสำนวนโวหาร 
     เป็นวรรณคดีเล่มแรกที่เรียบเรียงในลักษณะการค้นคว้าจากคัมภีร์ต่าง ๆ ถึง ๓๐คัมภีร์   จึงมีศัพท์ทางศาสนาและภาษาไทยโบราณอยู่มาก  สามารถนำมาศึกษาการใช้ภาษาในสมัยกรุงสุโขทัย  ตลอดจนสำนวนโวหารต่าง ๆ ไตรภูมิพระร่วงมีสำนวนหนักไปในทางศาสนาโวหารและพรรณนาโวหาร  ผูกประโยคยาว และใช้ถ้อยคำพรรณนาดีเด่น สละสลวยไพเราะ  ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านอารมณ์สะเทือนใจและให้จินตภาพหรือภาพในใจอย่างเด่นชัด  เช่น  " บ้างเต้นบ้างรำบ้างฟ้อน ระบำบันลือเพลงดุริยดนตรี  บ้างดีดบ้างสีบ้างตีบ้างเป่า  บ้างขับศัพท์สำเนียง  หมู่นักคุณจุณกันไปเดียรดาษพื้น  ฆ้องกลองแตรสังข์ระฆังกังสดาลมโหระทึกกึกก้องทำนุกดี  ที่มีดอกไม้อันตระการ่ต่าง ๆ สิ่ง มีจวงจันทน์กฤษณาคันธาทำนอง  ลบองดังเทพยดาในเมืองฟ้า  สนุกนี้ทุกเมื่อบำเรอกันบมิวาย "
๒.  ด้านความรู้
        ๒.๑  ด้านวรรณคดี ทำให้คนชั้นหลังได้รับความรู้ทางวรรณคดี อันเป็นความคิดของคนโบราณ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของวรรณคดีไทย เช่น พระอินทร์ แท่นบัณพุกัมพล ช้างเอราวัณ เขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์ต้นปาริชาติ ต้นนารีผล นรก สวรรค์ เป็นต้น
        ๒.๒  ด้านภูมิศาสตร์  เป็นความรู้ทางภูมิศาสตร์ของคนโบราณ
โดยเชื่อว่าโลกมีอยู่ ๔ ทวีป  ได้แก่  ชมพูทวีป  บุรพวิเทหทวีป อุตตรกุรุทวีป และอมรโคยานทวีป  โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง
๓.  ด้านสังคมและวัฒนธรรม
        ๓.๑  คำสอนทางศาสนา  ไตรภูมิพระร่วงสอนให้คนทำบุญละบาป  เช่น  การทำบุญรักษาศีลเจรฐสมาธิภาวนาจะได้ขึ้นสวรรค์การทำบาปจะตกนรก  แนวความคิดนี้มีอิทะพลเหนือนจิตใจของคนไทยมาช้านาน เป็นเสมือนแนวการสอนศีลธรรมของสังคม ให้คนปฏิบัติชอบซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม
        ๓.๒  ค่านิยมเชิงสังคม  อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ให้ค่านิยมเชิงสังคมต่อคนไทย  ให้ตั้งมั่นและยึดมั่นในการเป็นคนใจบุญ มีเมตตากรุณา รักษศีล บำเพ็ญทาน รู้จักเสียสละ เชื่อมั่นในผล  แห่งกรรม
        ๓.๓  ศิลปกรรม  จิตรกรนิยมนำเรื่องราวและความคิดในไตรภูมิพระร่วงไปเขียนภาพสีไว้ในโบสถ์วิหาร  โดยจะเขียนภาพนรกกไว้ที่ผนังด้านล่างหรือหลังองค์พระประธาน  และเขียนภาพสวรรค์ไว้ที่ผนังเบื้องบนรอบโบสถ์วิหาร
๔.  ด้านอิทธิพลต่อวรรณคดีอื่น
      มีหนังสืออ้างอิงทำนองไตรภูมิพระร่วง ที่มีผู้แต่งเลียนแบบอีกหลายเล่ม เช่น จักรวาลทีปนี ของ พระสิริมังคลาจารย์แห่งเชียงใหม่ไตรภูมิโลกวินิจฉัย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเล่าเรื่องไตรภูมิ  เป็นต้น
       ไตรภูมิพระร่วงมีอิทธิพลสำคัญต่อแนวคิดของกวีรุ่นหลัง  โดยนำความคิดในไตรภูมิพระร่วงสอดแทรกในวรรณคดีต่าง ๆ เช่น  ลิลิตโองการแช่งน้ำ  มหาเวสสันดรชาดก  รามเกียรติ์  กากีคำกลอนขุนช้างขุนแผน  ดังตัวอย่างต่อไปนี้
    ลิลิตโองการแช่งน้ำ   กล่าวถึงไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก
" นานาอเนกน้าวเดิมกัลป์                จักร่ำจักรพาฬหเมื่อไหม้
   กล่าวถึงตะวันเจ็ดอันพลุ่ง             น้ำแล้งไข้ขอดหาย "
รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑  กล่าวถึงทวีปทั้ง  ๔  ว่า
" สำแดงแผลงฤทธิ์ฮีกฮัก                 ขุนยักษ์ไล่ม้วนแผ่นดิน
   ชมพูอุดรกาโร                               อมรโคยานีก็ได้สิ้น "
รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒  กล่าวถึงปลาอานนท์
" เขาสุเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน   อานนท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน "
กากีคำกลอน  กล่าวถึงแม่น้ำสีทันดร
" .......................................              ในสาครลึกกว้างกลางวิถี
 แม้จะขว้างหางแววมยุรี                  ก็จมลงถึงที่แผ่นดินดาน
 อันน้ำนั้นสุขุมละเอียดอ่อน             จึงชื่อสีทันดรอันใสสาร
ประกอบด้วยมัจฉากุมภาพาล          คชสารเงือกน้ำและนาคิน "
ขุนช้างขุนแผน  กล่าวถึงป่าหิมพานต์
" ม่านนี้ฝีมือวันทองทำ                    จำได้ไม่ผิดนัยน์ตาพี่
  เส้นไหมแม้นเขียนแนบเนียนดี       สิ้นฝีมือแล้วแต่นางเดียว
  เจ้าปักเป็นป่าพนาเวศ                     ขอบเขตเขาคลุ้มชอุ่มเขียว
 รุกขชาติดาดใบระบัดเรียว               พริ้งเพรียวดอกดกระดะดวง
 ปักเป็นมยุราลงรำร่อน                     ฟ่ายฟ้อนอยู่บนยอดภูเขาหลวง
 แผ่หางกางปีกเป็นพุ่มพวง               ชะนีหน่วงเหนี่ยวไม้ชะม้อยตา
 ปักเป็นหิมพานต์ตระหง่านงาม        อร่ามรูปพระสุเมรุภูผา
 วินันตกอัสกรรณเป็นหลั่นมา           การวิกอิสินธรยุคุนธร "
ตัวอย่างจากเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง
โลหสิมพลีนรก


        " นรกบ่าวถัดนั้นอันคำรบ ๑๕  ชื่อ โลหสิมพลีนรก  ฝูงชนอันทำชู้ด้วยเมียท่านก็ดี    แลผู้หญิงอันมีผัวแล้วแลทำชู้จากผัวก็ดี  คนฝูงนั้นตายไปแล้วไปเกิดในนรกนั้น ๆ มีป่าไม้งิ้วป่า ๑ หลายต้นนักแล  ต้นงิ้วนั้นสูงได้แลโยชน์  แลหนามงิ้วนั้นเทียรย่อมเหล็กแดงเป็นเปลวสุกอยู่
แลหนามงิ้วนั้นยาวได้ ๑๒ นิ้วมือ  เป็นเปลวไฟลุกอยู่ห่อนจะรู้ดับสักคาบแล  ในนรกนั้นเทียรย่อมฝูงหญิงฝูงชายหลายแล  คนฝูงนั้นเขาได้รักใคร่กันดังกล่าวมาดุจก่อนนั้นแล  ลางคาบผู้หญิงอยู่บนปลายงิ้ว  ผู้ชายอยู่ภาคต่ำ  ฝูงยมบาลเขาก็เอาหอกดาบหลาวแหลน อันคมเทียรย่อมเหล็กแดง แทงตีนผู้ชายนั้น  จำให้ขึ้นไปหาผู้หญิงชูของสู อันอยู่บนปลายงิ้วโพ้นเร็วอย่าอยู่  แลฝูงผู้ชายทนเจ็บบมิได้จึงปีนขึ้นไปบนต้นงิ้วนั้นครั้นว่าขึ้นไปไส้  หนามงิ้วบาดทั่วตนเขาขาดทุกแห่ง แล้วเป็นเปลวไหม้ตนเขา ๆ อดบมิได้จึงบ่ายหัวลงมา  ฝูงยมบาลก็เอาหอกแทงซ้ำเล่าร้องว่าสูเร่งขึ้นไปหาชู้สูที่อยู่บนปลายงิ้วโพ้น  สูจะลงมาเยียใดเล่า  เขาอดเจ็บบมิได้  เขาเถียงยมบาลว่า  ตูมิขึ้นไป  เขาก็มิขึ้นไป  แลหนามงิ้วบาดทั่วทั้งตัวเขา ๆ เจ็บปวดนักหนาดังใจเขาจะขาดตาม  แลเขากลัวฝูงยมบาล  เขาจึงขึ้นไปเถิงปลายงิ้วนั้น  ครั้นจะใกล้เถิงผู้หญิงผู้เป็นชู้สูอันอยู่บนปลายงิ้วนั้นเล่า  แลว่าเมื่อเขาขึ้นลงหากันดังนั้นหลายคาบหลายคราลบากนักหนาแล "
จาตุมหาราชิกาสวรรค์

          " แต่แผ่นดินเราอยู่นี้ขึ้นไปเบื้องบนได้ ๓๒๖,๐๐๐,๐๐๐  วาผิจะนับด้วยโยชน์ได้  ๔,๖๐๐ โยชน์ไส้  ว่าจิงได้เถิงชั้นฟ้าอันชื่อ  จาตุมหาราชิกา  ภูมิอันตั้งอยู่เหนือจอมเขายุคนธรฝ่ายตะวันตกตะวันออกก็ดี  ฝ่ายหนทักษิณเขาพระสิเนรุราช  มีเมืองใหญ่เทพยดาอยู่ ๔ เมือง  โดยกว้างโดยยาวเมืองนั้นใหญ่ได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา  รอบนั้นเทียรย่อมกำแพงทอง  ประดับด้วยแก้ว ๗ประการ  แลกำแพงอันรอบนั้นโดยสูงได้ ๘,๐๐๐ วา  บานประตูนั้นเทียรย่อมแก้ว  แลมีปราสาททองอยู่เหนือประตูนั้นทุกอัน  ในเมืองนั้นเทียรย่อมปราสาทแก้ว  ฝูงเทพยดาอยู่ใน  แผ่นดินนั้นเป็นแผ่นดินทองพรายงามราบนักหนาดังหน้ากลอง  แลอ่อนดังฝูกผ้า  แลแก้วนั้นเมื่อเหยียบลงอ่อนสน่อยแล้วก็เต็มขึ้นมาเล่า  บ่มิเห็นรอยตีนเลย  นอกนั้นมีน้ำใสกว่าแก้ว  แลมีดอกบัวบาน ๕ สิ่ง  ในสระนั้น  น้ำนั้นหอมดั่งแสร้งอบ  แลมีพรรณดอกไม้อันงาม  แลมีต้นไม้อันประเสริฐ งาม  มีลูกอันประเสริฐ  แลมีโอชารสอันยิ่ง  แลไม้ฝูงนี้เป็นดอกเป็นลูกทุกเมื่อ  แล่บ่ห่อนจะรู้วายเลยเทพยดาผู้เป็นพระญาแก่เทวดาทั้งหลาย  ฝ่ายตะวันออกเขาสุเนรุราชนั้น ชื่อว่าท้าวธตรฐราช  เป็นพระญาแก่เทพยดาทั้งหลายรอดทั่วทั้งกำแพงจักรวาฬฝ่ายตะวันออกแล   เทพยดาผู้เป็นพระญาแก่เทพยดาแลฝูงครุฑราช  แลฝูงนาคเถิงกำแพงจักรวาฬเบื้องตะวันตก  แลเทพยดาผู้เป็นพระญาฝ่ายทักษิณชื่อ ท้าววิรุฬหกราช เป็นพระญาแก่ฝูงยักษ์อันชื่อกุมภัณฑ์  แลเทพยดาทั้งหลายรอดไปเถิงกำแพงจักรวาฬฝ่ายทักษิณ  แลเทพยดาผู้เป็นพระญาฝ่ายอุดรชื่อ ท้าวไพรศรพณ์มหาราช เป็นพระญาแก่หมู่ยักษ์ทั้งหลาย  แลเทพยดาฝ่ายอุดรทิศเขาพระสิเนรุราชรอดไปเถิงกำแพงจักรวาฬฝ่ายอุดรนั้นแล "

อ้างอิง http://piromwasee.exteen.com







บทที่3 เนื้อหาไตรภูมิพระร่วง




เนื้อหาไตรภูมิพระร่วง
                 ไตรภูมิพระร่วง มีเนื้อเรื่องเริ่มต้นด้วยคาถานมัสการเป็นภาษาบาลี มีบานแพนกบอกชื่อผู้แต่ง วันเดือนปีที่แต่ง ชื่อคัมภีร์ต่าง ๆ บอกจุดมุ่งหมายในการแต่ง แล้วจึงกล่าวถึงภูมิทั้ง ๓ คำว่า เตภูมิ หรือ ไตรภูมิ แปลว่า สามแดน คือ กามภูมิ รูปภูมิอรูปภูมิ ทั้ง ๓ ภูมิ แบ่งออกเป็น ๘ กัณฑ์ (กัณฑ์ = เรื่อง,หมวด,ตอน)แสดง ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง ความไม่แน่นอนทั้งมนุษย์และสัตว์รวมทั้งสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ภูเขา แม่น้ำ แผ่นดิน ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ความเปลี่ยนแปลงนี้กวีไทยเรียกว่า อนิจจลักษณะ ไตรภูมิพระร่วง เดิมเรียกว่า ไตรภูมิกถา / เตภูมิกถา หมายถึงเรื่องราวของโลกทั้ง ๓ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ
       ๑. กามภูมิ คือ โลกของผู้ที่ยังติดอยู่ในกามกิเลส แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย ได้แก่  สุคติภูมิ และอบายภูมิ
           ๑.๑ สุคติภูมิ ได้แก่
                 ๑.๑.๑ มนุสสภูมิ (โลกมนุษย์ )
                 ๑.๑.๒ สวรรคภูมิ (ฉกามาพจรภูมิ)
                          ๑.๑.๒.๑ จาตุมหาราชิกา
                          ๑.๑.๒.๒ ดาวดึงส์
                          ๑.๑.๒.๓ ยามา
                          ๑.๑.๒.๔ ดุสิต
                          ๑.๑.๒.๕ นิมมานรดี
                          ๑.๑.๒.๖ ปรนิมมิตวสวัตดี
               ๑.๒ อบายภูมิ ได้แก่
                     ๑.๒.๑ นรกภูมิ (มี ๘ ขุม )

   นรกแบ่งเป็นขุม ๆ ตามอำนาจของกรรมที่เหล่าสัตว์โลกได้กระทำไว้บันดาลให้เกิดขึ้น  นรกขยายตัวออกไปไม่สิ้นตามจำนวนของสัตว์นรก   นรกแบ่งออกตามอำนาจของกรรม มี  ๘  ขุม แต่ละขุมจะมีนรกบริวาร/นรกบ่าว หรืออุสสทนรก ด้านละ  ๔  ขุม  รวม ๑๖ ขุม   และมีนรกเล็ก เรียกว่า ยมโลก อยู่ภายนอกด้านละ ๑๐ ขุม  สำหรับโลกันตนรกอยู่นอกกำแพงจักรวาล 
                                                  (๑) อุสสทนรก   ๑๒๘  ขุม
                                                  (๒) ยมโลก   ๓๒๐  ขุม
                                                  (๓) โลกันตนรก  ๑  ขุม
    ขุมที่ ๑  สัญชีพนรก (ขุมนรกไม่มีวันตาย) 
         ลักษณะ  พื้นเหล็กหนาถูกเผาไฟจนลุกโชน  มีขอบทั้ง ๔ ด้าน มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล  ระหว่างไฟจะมีสรรพวุธต่าง ๆ เช่น  หอก ดาบ ฆ้อน ถูกเผาไฟจนลุกแดงและคมจัด  สัตว์นรกวิ่งพล่าน เท้าเหยียบไฟ  ร่างกายถูกเผา  สรรพวุธฟัน แทง สับ ทุบ  สัตว์นรกเจ็บปวดทรมาน ร้องครวญครางดิ้นเร่า ๆ  ร่างกายสัตว์นรกฉีกขาด แล้วมาต่อกันใหม่โดยทันที  ทรมานต่อไป ไม่มีวันตาย      อายุขัย   ๕๐๐ ปี   ๑ วัน =  ๙ ล้านปีมนุษย์
ความผิดบาปคือ   เป็นโจรปล้นทำลายทรัพย์สิน  ผู้มีอำนาจข่มเหงผู้ต่ำต้อยกว่า
     ขุมที่ ๒  กาฬสุตตะนรก (ขุมนรกบรรทัดดำ)
          ลักษณะ   มีกำแพงและพื้นเหล็กถูกเผาไฟลุกโชน นายนิริยบาลจะจับเอาสัตว์นรกนอนลง  ใช้เส้นบรรทัดที่ทำด้วยสายเหล็กแดงลูกเป็นไฟ มาดีดร่างกายของสัตว์นรก  ตามยาวบ้าง  ตามขวางบ้าง  แล้วนำเลื่อยบ้าง ขวานบ้าง มีดโต้บ้าง มาสับ ฟัน เลื่อยตามรอยที่ดีดไว้  ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส 
อายุขัย   ๑,๐๐๐ ปี   ๑ วัน  =  ๓๖ ล้านปีมนุษย์
ความผิดบาปคือ   ฆ่านักบวช  ภิกษุ สามเณร  ผู้ทุศีล อลัชชี
           ขุมที่ ๓  สังฆาฏนรก (ขุมนรกภูเขาขยี้กาย)
           ลักษณะ   มีกำแพงและพื้นเหล็กถูกเผาไฟลุกโชน  มีภูเขาเหล็กลุกเป็นไฟ ๒ ลูก  กลิ้งไปมาเข้าหากันบดขยี้ร่างสัตว์นรกจนแหลกเหลว แล้วฟื้นขึ้นมาใหม่  รับทุกข์ทรมานต่อไป  สัตว์นรกตนใดวิ่งหนี  ก็จะถูกนายนิริยบาลตีบ้าง แทงบ้าง ฟันบ้าง ตลอดเวลา 
อายุขัย   ๒,๐๐๐ ปี    ๑ วัน  =  ๑๔๕  ล้านปีมนุษย์
ความผิดบาปคือ  เป็นพรานนก  พรานเนื้อ  หรือพวกที่ชอบทรมาน เบียดเบียนสัตว์ที่ตนใช้ประโยชน์ เช่น วัว ควาย โดยขาดความเมตตาสงสาร
      ขุมที่ ๔  โรรุวะนรก (ขุมนรกร้องไห้)
           ลักษณะ   มีกำแพงเหล็ก ๔ ด้าน ไฟลุกโชน ยิ่งลึกยิ่ร้อน ตรงกลางขุมมีดอกบัวเหล็ก  กลีบเหล็กมีไฟพุ่งออกมาตลอดเวลา สัตว์นรกถูกบังคับให้ขึ้นไปอยู่ในดอกบัว  กรรมทำให้สัตว์นรกยืนขึ้นแล้วก้มตัวลงกลีบบัวงับหนีบสัตว์นรก ส่วนหัวถึงคาง  ขาถึงข้อเท้า มือถึงข้อมือ  ไฟเผาร่างอยู่ตลอดเวลา สัตว์นรกเจ็บปวดทรมานส่งเสียงร้องครวญครางดังยิ่งนัก
 อายุขัย   ๔,๐๐๐ ปี    ๑ วัน  =  ๕๗๖  ล้านปีมนุษย์
 ความผิดบาป  พวกเมาสุราอาละวาด ทำร้ายร่างกาย  พวกเผาไม้
ทำลายป่า  พวกกักขังสัตว์ไว้ฆ่า  ชาวประมง
         ขุมที่ ๕  มหาโรรุวะนรก (ขุมนรกร้องไห้ดังสนั่น)
             ลักษณะ   มีดอกบัวขนาดใหญ่  ไฟร้อนจัดยิ่งกว่าขุมก่อน  กลีบบัวคมเป็นกรดมีอยู่ทั่วไป  ระหว่างช่องว่างมีแหลนหลาว ปักชูปลายแหลม ขึ้นลุกเป็นไฟ  นายนิริยบาล่จะบังคับไล่แทงให้ขึ้นไปบนดอกบัว  สัตว์นรกทั้งหลายร้อน ดิ้นทุรนทุรายไปกระทบกลีบบัว  กลีบบัวบาดตัดร่างสัตว์นรกล่วงลงมา  ถูกแหลนหลาวแทงรับไว้  เนื้อของสัตว์นรกร้อนลุกเป็นไฟหล่นลงสู่พื้น  และมีสุนัขนรกคอยกัดแทะกินจนหมดสิ้น  สัตว์นรกก็จะก่อร่างขึ้นใหม่ รับทุกขเวทนายิ่งกว่าร้องโหยหวนดังยิ่งกว่าขุนก่อน 
อายุขัย   ๘,๐๐๐ ปี    ๑ วัน  =  ๒๓๐๔  ล้านปีมนุษย์
ความผิดบาป  พวกลักเครื่องสักการบูชา  ขโมยทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือภิกษุสามเณร นักบวชต่าง ๆ
         ขุมที่ ๖  ตาปะนรก (ขุมนรกแห่งความเร่าร้อน)
              ลักษณะ  กำแพง ๔ ด้าน พื้นเป็นเหล็กแดงฉาน ไฟพลุ่งโชนสว่างมาก ไร้เปลว ไฟละเอียดและร้อนจัด  มีแหลนหลาวใหญ่เท่าลำตาลไฟลุกโชน พุ่งมาเสียบสัตว์นรกและเอาขึ้นตั้งไว้  พอไฟไหม้เนื้อหนังหล่นลงมา ก็จะถูกสุนัขนรกตัวใหญ่เท่าช้าง เที่ยวไล่กัดแทะจนเหลือแต่กระดูก แล้วก็เกิดเป็นสัตว์นรกใหม่  ต้องทุกข์ทรมาน ร้องระงมเซ็งแซ่ไปหมด
อายุขัย   ๑,๖๐๐ ปี   ๑ วันนรก =  ๙,๒๓๖ ล้านปีมนุษย์
ความผิดบาป   พวกเผาบ้านเผาเมือง   เผาโบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ
             ขุมที่ ๗  มหาตาปะนรก (ขุมนรกแห่งความเร่าร้อนยิ่ง)
                 ลักษณะ   มีไฟคล้ายแสงสว่าง มีความร้อนสูงมาก พุ่งมาจากกำแพงเหล็กรอบด้านมารวมกันตรงกลาง  มีภูเขาเหล็กตั้งอยู่กลางขุมนรก มีไฟพุ่งเข้าพุ่งออกจนเผาเป็นเหล็กแดงฉาน  นายนิริยบาลบังคับให้สัตว์นรกป่ายปีนขึ้นไปบนยอดเขา  พอใกล้ถึงยอดเขา สัตว์นรกทนไม่ไหว ร่วงหล่นลงมา ก็จะถูกแหลนหลาวที่ปักเอาไว้รอบข้างแทงเข้า  ไฟไหม้ท่วมร่าง
อายุขัย   ๑/๒  กัป (กัลป์)
ความผิดบาป   พวกมิจฉาทิฏฐิบุคคล  เห็นผิดเป็นชอบ  ไม่รู้จักสิ่งดีมีประโยชน์  ปฏิเสธเรื่องบุญ เรื่องบาป เห็นว่าตายแล้วสูญ  ทุกสิ่งทุกอย่างเที่ยง  ไม่มีการเปลี่ยนแปลง  ทำแต่ทุจริตกรรม
       ขุมที่ ๘  อเวจีมหานรก (ขุมนรกแห่งไฟ)
            ลักษณะ   มีกำแพงเหล็กปิดเฉพาะตัวทั้ง ๖ ทิศ  มีหลาวเหล็กแทงสัตว์นรกทะลุตรึงร่าง ให้ยืนกางแขนขา  โดยจากบนลงล่าง ซ้ายไปขวา  หน้าไปหลัง  จำนวนหลายสิบเล่ม  จนสัตว์นรกไม่สามารถขยับตัวได้เลยแม้แต่น้อย  ถูกแผดเผาอยู่ตลอดเวลา จนกระดูกแดงฉาน  จำนวนสัตว์นรกในขุมนี้ มีมากกว่าทั้ง ๗ ขุมรวมกัน
อายุขัย   ๑ กัป (กลัป์)
ความผิดบาป   พวกทำบาปหนักที่เป็นอนันตริยกรรม ได้แก่ ฆ่าบิดามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำให้พระพุทะเจ้าห้อพระโลหิต ทำสังฆเภท คือ ยุยงให้สงฆ์แตกกัน  พวกทำลายพระพุทธรูป  ต้นศรีมหาโพธิ์  พวกติเตียนพระอริยสงฆ์
       ๑.๒.๒ ดิรัจฉานภูมิ
       ๑.๒.๓ เปรตภูมิ
       ๑.๒.๔ อสูรกายภูมิ
๒. รูปภูมิ  เป็นดินแดนของพรหมที่มีรูป มี ๑๖ ชั้น (โสฬสพรหม )
  ๒.๑ พรหมปาริสัชชาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จปฐมฌาณขั้นต้น
  ๒.๒ พรหมปุโรหิตาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จปฐมฌาณขั้นกลาง
  ๒.๓ มหาพรหมาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จปฐมฌาณขั้นสูง
  ๒.๔ ปริตตาภาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จทุติยฌาณขั้นต้น
  ๒.๕ อัปปมาณาภาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จทุติยฌาณขั้นกลาง
  ๒.๖ อาภัสสราภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จทุติยฌาณขั้นสูง
  ๒.๗ ปริตตสุภาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จตติยฌาณขั้นต้น
  ๒.๘ อัปปมาณสุภาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จตติยฌาณขั้นกลาง
  ๒.๙ สุภกิณหาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จตติยฌาณขั้นสูง
  ๒.๑๐ เวหัปปผลาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จจตุตฌาณ มีผลไพบูลย์ พ้นจากการทำลายของน้ำ ลม ไฟ
 ๒.๑๑ อสัญญีสัตตาภูมิ  ดินแดนของพรหมไร้นาม มีร่างกายสง่างาม
 ๒.๑๒ อวิหาภูมิ  ดินแดนของพระอรหันต์ขั้นอนาคามี เคยเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
 ๒.๑๓ อตัปปาภูมิ  ดินแดนของพรหมผู้ไม่เดือดร้อนทั้งกาย วาจา ใจ เพราะสามารถระงับนิวรณ์ได้
  ๒.๑๔ สุทัสสาภูมิ  แดนของผู้เห็นสภาวธรรมแจ้งชัด
  ๒.๑๕ สุทัสสีภูมิ  แดนของพรหมผู้เห็นธรรมแจ่มแจ้ง
  ๒.๑๖ อกนิฎฐาภูมิ  แดนของพรหมที่มีคุณสมบัติมากพอจะนิพพานได้
 ๓. อรูปภูมิ   เป็นดินแดนของพรหมที่ไม่มีรูป มีแต่จิตหรือวิญญาณ
           เป็นพรหมที่อุบัติขึ้นเพราะเหตุแห่งการบำเพ็ญ อรูปฌานกุศล โดยใช้สิ่งที่เป็นอรูป คือไม่มีรูปเป็นเครื่องเพ่งอารมณ์ แล้วฌานที่บังเกิดขึ้นเรียกว่าอรูปฌาน เมื่อตายลงในขณะฌานไม่เสื่อมย่อมบังเกิดในอรูปพรหมภูมิ
           พรหมในอรูปภูมิ เมื่อสิ้นอายุ อาจลงมาเกิดในสุคติภูมิ แต่จะไม่เกิดในอรูปภูมิที่ต่ำกว่า หรือในรูปภูมิ และจะไม่เกิดในอบายภูมิ ถ้าฌานสูงขึ้นก็จะได้ไปเกิดในอรูปภูมิชั้นที่สูงกว่า ตามลำดับความสูงต่ำของอำนาจฌาน ดังนี้
             ๓.๑ อากาสานัญจายตนภูมิ   ผู้ ที่จะมาเกิดในภูมินี้ ต้องเจริญสมถกรรมฐานจนได้ปัญจมฌานมาก่อนแล้ว มาเจริญอรูปฌานที่ ๑ คืออากาสานัญจายตนฌาน กำหนดเอาอากาศที่อยู่ในปฏิภาคนิมิตมาเป็นอารมณ์ จนสำเร็จอรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌาน เมื่อสิ้นชีวิตลง ก็จะมาเกิดในอากาสานัญจายตนภูมินี้ ซึ่งมีแต่นาม ไม่มีรูป มีอายุยืน ๒๐,๐๐๐ มหากัป
             ๓.๒ วิญญาณัญจายตนภูมิ   พรหมผู้ซึ่งได้อรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนฌาน กำหนดวิญญาณอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์  เป็นภูมิที่มีความสุขประณีต ละเอียดกว่าอากาสานัญจายตนภูมิ มีอายุยืน ๔๐,๐๐๐ มหากัป
             ๓.๓ อากิญจัญญายตนภูมิ  พรหม ผู้ซึ่งได้อรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนฌาน ด้วยการพิจารณาความไม่มีอะไร คือไม่มีทั้งอากาศและวิญญาณ ซึ่งเป็นอารมณ์ของอรูปฌานที่ ๑ และอรูปฌานที่ ๒
เป็นภูมิที่มีความสุขประณีต ละเอียดกว่าวิญญาณัญจายตนภูมิ มีอายุยืน ๖๐,๐๐๐ มหากัป
             ๓.๔ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ  พรหม ผู้ซึ่งได้อรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ด้วยการพิจารณาสัญญาที่เข้าไปรู้ในบัญญัติอารมณ์ว่า มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ ซึ่งเป็นฌานที่สูงสุด
เป็นภูมิที่มีความสุขประณีต ละเอียดกว่าอากิญจัญญายตนภูมิ มีอายุยืน ๘๔,๐๐๐ มหากัป



อ้างอิง https://board.postjung.com

วันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560

บทที่2 ผู้แต่ง

ไตรภูมิพระร่วง
ผู้แต่ง
                 พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นหลังจากที่ทรงผนวชแล้ว และขึ้นครองราชย์ได้ ๖ ปี ประมาณ พ.ศ. ๑๘๙๖
                 พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๖ แห่งกรุงสุโขทัย ขึ้นครองราชย์ต่อจากพญางัวนำถม จากหลักฐานในศิลาจารึกวัดมหาธาตุ พ.ศ. ๑๙๓๕ หลักที่ ๘ ข. ค้นพบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ เมื่อพญาเลอไทสวรรคต ใน พ.ศ. ๑๘๘๔ พญางัวนำถมได้ขึ้นครองราชย์ ต่อมาพญาลิไทยกทัพมาแย่งชิงราชสมบัติ และขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๑๘๙๐ ทรงพระนามว่า พระเจ้าศรีสุริยพงสรามมหาธรรมราชาธิราช ในศิลาจารึกมักเรียกพระนามเดิมว่า พญาลิไท หรือเรียกย่อว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๑ เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๑๙๑๑
                 พญา ลิไท ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงอาราธนาพระเถระชาวลังกาเข้ามาเป็นสังฆราชในกรุงสุโขทัย ได้สละราชสมบัติออกทรงผนวชที่วัดป่ามะม่วง นอกเมืองสุโขทัยทางทิศตะวันตก พญาลิไททรงมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ทรงสนพระทัยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก และทรงพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญหลายประการ เช่น สร้างถนนพระร่วง ตั้งแต่เมืองศรีสัชนาลัยผ่านกรุงสุโขทัยไปถึงเมืองนครชุม (กำแพงเพชร) บูรณะเมืองนครชุม สร้างเมืองสองแคว (พิษณุโลก) เป็นเมืองลูกหลวง และสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ที่ฝีมือการช่างงดงามเป็นเยี่ยม
                    งานพระราชนิพนธ์ของพญาลิไท ได้แก่ ไตรภูมิพระร่วงหรือเตภูมิกถาศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงและศิลาจากรึกวัดศรีชุม เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กล่าวถึงเหตุการณ์และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆการสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ การผนวชที่วัดป่ามะม่วง เป็นต้น
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
                 มี ๒ ประการ
                    ๑. เพื่อเทศนาโปรดพระมารดา เป็นการเจริญธรรมกตัญญูประการหนึ่ง
                    ๒. เพื่อใช้สั่งสอนประชาชนให้มีคุณธรรม เข้าใจพุทธศาสนา และช่วยกันดำรงพระพุทธศานา ไว้ให้มั่นคง
ลักษณะคำประพันธ์
                 ร้อยแก้ว ประเภทความเรียงสำนวนพรรณนา


อ้างอิง https://board.postjung.com/730910.html


วันอังคารที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560

บทที่1 ประวัติไตรภูมิพระร่วง

ไตรภูมิพระร่วง
     ไตรภูมิพระร่วง มีหลายชื่อเรียกได้แก่ "ไตรภูมิพระร่วง" "เตภูมิกถา" "ไตรภูมิกถา" "ไตรภูมิโลกวินิจฉัย" และ "เตภูมิโลกวินิจฉัย"
   เป็นวรรณกรรมศาสนาพุทธที่แต่งในสมัยสุโขทัยประมาณ พ.ศ. 1888 โดยพระราชดำริในพระมหาธรรมราชาที่ 1 รวบรวมจากคัมภีร์ในศาสนาพุทธ มีเนื้อหาเกี่ยวกับโลกสัณฐาน ที่แบ่งเป็น 3 ส่วน หรือ ไตรภูมิ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ
    วรรณคดีเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับ คติความเชื่อของชาวไทย เป็นจำนวนมาก เช่น นรก สวรรค์ การเวียนว่ายตายเกิด ทวีปทั้งสี่ (เช่น ชมพูทวีป ฯลฯ) กัป กลียุค วาระสุดท้ายของโลก พระศรีอริยเมตไตรย พระเจ้าจักรพรรดิ
ประวัติโดยย่อ
     
     ไตรภูมิพระร่วง เป็นพระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อ วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีระกา ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1864 (ปีเก่า) จ.ศ.683 ม.ศ.1243 เป็นปีครองราชย์ที่ 6 โดยมีพระประสงค์ที่จะเทศนาโปรดพระมารดา และเพื่อจำเริญพระอภิธรรม ไตรภูมิพระร่วงเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถอย่างลึกซึ้ง ในด้านพุทธศาสนาของพระมหาธรรมราชาลิไทที่ทรงรวบรวมข้อความต่างๆ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา นับแต่พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และปกรณ์พิเศษต่างๆ มาเรียบเรียงขึ้นเป็นวรรณคดีโลกศาสตร์เล่มแรกที่แต่งเป็นภาษาไทยเท่าทีมีหลักฐานอยู่ในปัจจุบันนี้  ทั้งนี้ อ.สินชัย กระบวนแสง ได้วิเคราะห์เหตุผล        การแต่งไตรภูมิพระร่วงของพระมหาธรรมราชาลิไท ว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองด้วย เนื่องจากไตรภูมิเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนรก-สวรรค์ สอนให้คนรู้จักการทำความดีเพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์ หากแต่ใครทำชั่วประพฤติตนผิดศีลก็จะต้องตกนรก กล่าวคือ ประชากรในสมัยที่พระมหาธรรมราชาลิไทปกครองนั้นเริ่มมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้การปกครองบ้านเมืองให้สงบสุขปราศจากโจรผู้ร้ายเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น การดูแลของรัฐก็ไม่อาจดูแลได้ทั่วถึง พระมหาธรรมราชาลิไทจึงได้คิดนิพนธ์วรรณกรรมทางศาสนาเรื่องไตรภูมิพระร่วงขึ้นมาเพื่อที่ต้องการสอนให้ประชาชนของพระองค์ทำความดี เพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์มีชีวิตที่สุขสบาย และหากทำความชั่วก็จะต้องตกนรก ด้วยเหตุนี้วรรณกรรมเรื่องไตรภูมิจึงเป็นสิ่งที่ใช้ควบคุมทางสังคมได้เป็นอย่างดียิ่ง เพราะสามารถเข้าถึงจิตใจทุกคนได้โดยมิต้องมีออกกฎบังคับกันแต่อย่างไร

อ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/

บทที่6 วีดีโอประกอบเรื่อง

วีดีโอประกอบเรื่อง https://www.youtube.com/watch?v=kJ 7 Kz- 0998 I กามภูมิ อรุปภูมิ รูปภุมิ https://www.youtube.com...